Friday, October 7, 2011

ทะลักอยุธยายับ แสนล้าน จมนิคมอุตสาหกรรม

ทะลักอยุธยายับ แสนล้าน จมนิคมอุตสาหกรรม
46รง."สหรัตนนคร" ท่วมแล้วสายเอเชีย "ชัยนาท-อ่างทอง"มิด น้ำเขื่อนใหญ่วิกฤต!


กรุงเก่าวุ่น - ชาวชุมชนเจ้าพ่อจุ้ย จ.พระนครศรีอยุธยา บุกพังคันดินบนถนนโรจนะเพื่อระบายน้ำออก จนเกิดความขัดแย้งกับชาวบ้านอีกฝั่ง ทางเทศบาลต้องเจรจาไกล่เกลี่ยนานหลายชั่วโมง เมื่อวันที่ 5 ต.ค.
"กรุงเก่า" วิกฤตหนัก น้ำทะลักท่วมเขตนิคมอุตสาหกรรม จมโรงงาน 46 แห่งขนของย้ายผู้คนโกลาหล หน่วยกู้ภัยส่งจนท. ช่วยเหลือคนติดภายในกันจ้าละหวั่น ค่าเสียหายกว่าแสนล้านบาท น้ำล้นเข้าพื้นที่เกาะเมืองแล้ว ศอส.เผยยอดตาย 237 ศพ สูญหายอีก 3 ราย สั่งเฝ้าระวังบ้านเรือนริมน้ำภาคเหนือ-อีสาน น้ำล้นเขื่อนใหญ่หลายแห่ง เขื่อนป่าสักฯ สั่งเร่งระบายน้ำ รถไฟสายเหนือหยุดวิ่ง 12 ขบวน "ชัยนาท-อ่างทอง" ระดับน้ำยังสูง "สิงห์บุรี" ท่วมสายเอเชีย "ปราจีนฯ" สลดเรือล่มดับ 3 ศพ

"ปู"โพสต์เฟซบุ๊กแก้น้ำท่วม

เมื่อเวลา 08.00 น. วันที่ 5 ต.ค. น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว ระบุว่า จากการประชุมวิดีโอคอนเฟอเรนซ์เมื่อวันที่ 4 ต.ค. นายกรัฐมนตรีให้นโยบายเชิงปฏิบัติการการแก้ไขปัญหาอุทกภัย โดยให้ภาคประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมอย่างจริงจัง นายกรัฐมนตรีได้เน้นนโยบายเชิงปฏิบัติการในการแก้ไขปัญหาอุทกภัย ซึ่งเป็นมาตรการที่เห็นผลทันที 9 มาตรการ คือ 1.ต้องเร่งระบายน้ำท่วมออกทะเลให้หมดโดยเร็วที่สุด 2.ต้องใช้แรงดันเรือหรือเครื่องในการดันน้ำให้หมดโดยฉับไว 3.ใช้การบริหารทางเทคนิคด้วยการวัดผลได้อย่างมีประสิทธิภาพ 4.การช่วยเหลือราษฎร โดยเพิ่มบทบาทให้กองทัพทุกเหล่าทัพมาช่วยเหลือราษฎรที่ประสบปัญหาอุทกภัยให้มากยิ่งขึ้น 5.การให้ข้อมูลข่าวสารกับพี่น้องประชาชนทั่วประเทศตามสถานการณ์ที่เกิดขึ้นจริง ซึ่งนายกรัฐมนตรีเชื่อมั่นว่าพี่น้องประชาชนทุกคนมีความรักความสามัคคี สามารถนำพาประเทศชาติให้ผ่านพ้นวิกฤตไปได้ด้วยดี

6.การรักษาเขตตัวเมือง ด้วยการตรวจติดตามสภาพคันกั้นน้ำที่ทำจากดินให้มีสภาพแข็งแรง หากมีสภาพเก่าหรือชำรุดต้องติดตามแก้ไขให้อยู่ในสภาพคงทน สามารถเป็นคันกั้นน้ำได้อย่างมีประสิทธิภาพ 7.กรมชลประทานปฏิบัติการขุดลอกคันกั้นน้ำอย่างมีประสิทธิภาพ พร้อมมาตรการดันน้ำลงทะเลอย่างฉับพลันทันที 8.การริเริ่มโครงการประชาอาสา โดยให้ภาคเอกชนเข้ามาร่วมแรงร่วมใจกัน ใช้เรือของตนเองที่มีอยู่ในการดันน้ำลงทะเล โดยภาครัฐรับผิดชอบดูแลค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับน้ำมันเรือ และ 9.ให้ภาคประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการบริหารจัดการน้ำ เมื่อเกิดปัญหาอุทกภัยโดยจังหวัดตั้งคณะกรรมการระดับจังหวัดและมีพี่น้องประชาชนในทุกภาคส่วนของชุมชนและตัวแทนส่วนราชการระดับท้องถิ่นเข้ามามีบทบาทร่วมกันในการแก้ปัญหาอย่างเป็นรูปธรรมและเกิดผลทางปฏิบัติทันที

กทม.ยันอย่าวิตก-ยังรับมือได้

นายเจตน์ โศภิษฐ์พงศธร โฆษกกรุงเทพ มหานคร กล่าวว่า ขณะนี้ในพื้นที่ กทม.ยังอยู่ในภาวะที่ยังรับมือน้ำได้ จึงขอให้ประชาชนอย่าเพิ่งวิตกกังวล แต่ขอให้ติดตามข่าวสารเรื่องน้ำอย่างใกล้ชิดโดยเฉพาะพื้นที่ริมน้ำ ส่วนน้ำที่ไหลเข้ามาในปริมาณมากที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยาว่าจะกระทบต่อกทม.หรือไม่นั้น นายเจตน์กล่าวว่า ก็มีความกังวลแต่หลังจากการคำนวณแล้วยังถือว่าอยู่ในเกณฑ์ที่กทม.สามารถดูแลได้อยู่ ส่วน การป้องกันเพิ่มเติมขณะนี้สำนักการระบายน้ำได้เร่งดำเนินการระบายน้ำเต็มที่และได้ดำเนินการขุดลอกคลองและกำจัดวัชพืชแล้วในคลองต่างๆ เพื่อไม่ให้กีดขวางทางน้ำไหล

ปภ.ชี้ทั่วประเทศฝนชุกอีก

นายวิบูลย์ สงวนพงศ์ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เปิดเผยว่า จากการตรวจติดตามภาวะอากาศกับกรมอุตุนิยมวิทยา พบว่าพายุโซนร้อนนาลแกได้อ่อนกำลังลงเป็นพายุ ดีเปรสชั่นแล้ว และคาดจะเคลื่อนตัวขึ้นฝั่งประเทศเวียดนามตอนบน และอ่อนกำลังเป็นหย่อมความกดอากาศต่ำ ประกอบกับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้กำลังค่อนข้างแรง พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทยและอ่าวไทย ส่งผลให้ทั่วทุกภาคของประเทศมีฝนตกชุกและฝนตกหนักบางพื้นที่ในช่วงวันที่ 5-8 ต.ค. จึงขอเตือนประชาชนที่อาศัยอยู่บริเวณภาคเหนือตอนล่าง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง ภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคใต้ฝั่งตะวันตก โดยเฉพาะพื้นที่เสี่ยงภัยบริเวณที่ราบต่ำริมน้ำ ที่ลาดเชิงเขา และใกล้ทางน้ำไหลผ่านในพื้นที่ 19 จังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ได้แก่ บึงกาฬ หนองคาย อุดรธานี สกลนคร เลย หนองบัวลำภู นครพนม มุกดา หาร ขอนแก่น มหาสารคาม ร้อยเอ็ด อุบลราช ธานี ศรีสะเกษ อำนาจเจริญ ยโสธร ชัยภูมิ นครราชสีมา สุรินทร์ และบุรีรัมย์ เตรียมรับมือภาวะฝนตกหนัก ซึ่งอาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลัน น้ำล้นตลิ่ง น้ำป่าไหลหลาก และดินโคลนถล่ม ส่วนคลื่นลมในทะเลอันดามันและอ่าวไทยตอน บนมีกำลังแรง คลื่นสูง 2-3 เมตร ชาวเรือควรเพิ่มความระมัด ระวังในการเดินเรือ เรือเล็กควรงดออกจากฝั่งในช่วง 2-3 วันนี้

ศอส.เผยยอดตาย 237 ศพ

นายพระนาย สุวรรณรัฐ ว่าที่ปลัดกระทรวงมหาดไทย ในฐานะ ผอ.ศูนย์สนับสนุนการอำนวยการและการบริหารสถานการณ์อุทกภัย วาตภัย และดินโคลนถล่ม (ศอส.) เปิดเผยว่า ปัจจุบันยังคงมีสถานการณ์อุทกภัยใน 28 จัง หวัด ได้แก่ จ.สุโขทัย พิจิตร พิษณุโลก นคร สวรรค์ อุทัยธานี ชัยนาท สิงห์บุรี อ่างทอง พระนครศรีอยุธยา ลพบุรี สระบุรี สุพรรณบุรี นครปฐม ปทุมธานี นนทบุรี อุบลราชธานี ขอนแก่น ศรีสะเกษ สุรินทร์ ฉะเชิงเทรา นครนายก ปราจีนบุรี เชียงใหม่ ยโสธร ร้อยเอ็ด ลำปาง เลย และนครราชสีมา รวม 201 อำเภอ 1,486 ตำบล 11,208 หมู่บ้าน ราษฎรได้รับความเดือดร้อน 826,377 ครัวเรือน 2,604,220 คน และมีผู้เสียชีวิต 237 ราย สูญหาย 3 คน จ.แม่ฮ่องสอน 1 ราย จ.อุตรดิตถ์ 1 ราย จ.ขอน แก่น 1 ราย พื้นที่การเกษตรคาดว่าจะเสียหาย 7,528,805 ไร่ พื้นที่เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ 105,963 บ่อ/กระชัง ปศุสัตว์ได้รับผลกระทบรวมทั้งสิ้น 8,511,689 ตัว น้ำท่วมเส้นทางไม่สามารถสัญจรผ่านได้ รวม 169 สาย แยกเป็น ทางหลวง 48 สาย ใน 14 จังหวัด ทางหลวงชนบท 121 สาย ใน 20 จังหวัด

เร่งระบาย - เขื่อนภูมิพลเปิดประตูน้ำฉุกเฉินระบายน้ำเพิ่มจากวันละ 60 เป็น 100 ล้านลบ.ม. ตามมติคณะกรรมการเฉพาะกิจบริหารจัด การน้ำเพื่อระบายน้ำที่ไหลเข้าเขื่อนเป็นจำ นวนมาก เมื่อวันที่ 5 ต.ค.


เฝ้าระวังริมน้ำ"เหนือ-อีสาน"

นายพระนายกล่าวว่า สำหรับสถานการณ์น้ำในลุ่มน้ำต่างๆ ยังต้องเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด เนื่องจากมีปริมาณน้ำมากและระดับน้ำล้นตลิ่งมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น โดยเฉพาะลุ่มน้ำปิง ที่อ.บ้าน โฮ่ง จ.ลำพูน ลุ่มน้ำยม ที่อ.สามง่าม อ.โพทะเล อ.โพธิ์ประทับช้าง จ.พิจิตร ลุ่มน้ำน่าน ระดับน้ำมีแนวโน้มทรงตัว ลุ่มน้ำมูน ที่ อ.โชคชัย อ.โนนไทย จ.นครราชสีมา อ.คูเมือง อ.สะตึก อ.ลำปลายมาศ จ.บุรีรัมย์ อ.ท่าตูม จ.สุรินทร์ อ.ราษีไศล อ.กันทรารมย์ อ.เมือง อ.พยุห์ จ.ศรีสะเกษ อ.สุวรรณภูมิ จ.ร้อยเอ็ด ลุ่มน้ำชี ที่อ.เมือง อ.น้ำพอง จ.ขอนแก่น อ.โกสุมพิสัย อ.เมือง จ.มหาสารคาม อ.กมลาไสย จ.กาฬสินธุ์ ลุ่มน้ำท่าจีน ที่ อ.บางปลาม้า จ.สุพรรณบุรี

น้ำในเขื่อนใหญ่วิกฤตหลายแห่ง

นายพระนายกล่าวต่อว่า สำหรับลุ่มน้ำเจ้า พระยาระดับน้ำทรงตัว ปริมาณน้ำไหลผ่านจัง หวัดนครสวรรค์ 4,524 ลบ.ม./วินาที เขื่อนเจ้า พระยาปริมาณน้ำไหลผ่าน 3,616 ลบ.ม./ วินาที ปริมาณน้ำไหลผ่าน อ.บางไทร จ.พระนครศรี อยุธยา 3,552 ลบ.ม./วินาที ส่งผลให้ 10 จังหวัดที่อยู่ริมแม่น้ำ ได้แก่ อุทัยธานี ชัยนาท สิงห์บุรี ลพบุรี อ่างทอง สุพรรณบุรี พระนครศรีอยุธยา สระบุรี ปทุมธานี และนนทบุรี ได้รับผลกระทบจากภาวะน้ำล้นตลิ่งที่มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น

สำหรับสถานการณ์น้ำในเขื่อนขนาดใหญ่ยังอยู่ในภาวะวิกฤต โดยเฉพาะเขื่อนภูมิพลมีปริมาณน้ำ ร้อยละ 97 เขื่อนสิริกิติ์มีปริมาณน้ำ ร้อยละ 99 เขื่อนแควน้อยมีปริมาณน้ำ ร้อยละ 97 เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์มีปริมาณน้ำ ร้อยละ 138 ทั้งนี้ จากการประสานสถานการณ์น้ำในเขื่อนพบว่าเขื่อนภูมิพลมีปริมาณน้ำสูงถึงร้อยละ 97 จึงจำเป็นต้องระบายน้ำออกจากเขื่อนอย่างต่อเนื่อง จึงขอให้จังหวัดที่ตั้งอยู่บริเวณท้ายเขื่อนภูมิพล โดยเฉพาะ จ.ตาก กำแพงเพชร ชัยนาท และนครสวรรค์ เตรียมรับผลกระทบจากการระบายน้ำ โดยจัดเจ้าหน้าที่เฝ้าระวังและแจ้ง เตือนประชาชนในพื้นที่ดังกล่าวเตรียมรับมือและขนย้ายสิ่งของขึ้นที่สูง

เตือน 8 จว.ระวังน้ำป่า-ดินถล่ม

นายพระนายกล่าวอีกว่า พายุโซนร้อนนาลแกจะเคลื่อนตัวขึ้นฝั่งประเทศเวียดนามในวันนี้ และจะอ่อนกำลังลงเป็นหย่อมความกดอากาศต่ำ ประกอบกับมีร่องมรสุมพาดผ่านภาคกลาง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง และภาคตะวันออก รวมทั้งมรสุมตะวันตกเฉียงใต้พัดปกคลุมทะเลอันดามันและอ่าวไทย ทำให้ทุกภาคของประเทศไทยมีฝนตกชุก และมีฝนตกหนักบางแห่งในภาคเหนือตอนล่าง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง ภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคใต้ฝั่งตะวันตก ขอให้ประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่เสี่ยงภัย 8 จังหวัด ได้แก่ แม่ฮ่องสอน (อ.แม่สะเรียง อ.สบเมย) ตาก (อ.แม่ระมาด อ.ท่าสองยาง อ.แม่สอด) กำแพงเพชร (อ.คลองลาน) จันทบุรี (อ.ขลุง) ตราด (อ.เกาะช้าง อ.บ่อไร่) ระนอง (อ.กระบุรี อ.กะเปอร์) พังงา (อ.กะปง อ.ท้ายเหมือง อ.ตะ กั่วป่า) สุราษฎร์ธานี (อ.พนม อ.บ้านตาขุน) เฝ้าระวังดินถล่มและน้ำป่าไหลหลากในระยะ 1-2 วันนี้ โดยให้หมั่นสังเกตสัญญาณความผิดปกติทางธรรมชาติจะได้อพยพหนีภัยได้อย่างทันท่วงที

"ปลอด"วอน-ช่วยขับเรือไล่น้ำ

เวลา 10.00 น. ที่ทำเนียบรัฐบาล นายปลอดประสพ สุรัสวดี รมว.วิทยาศาสตร์ ให้สัมภาษณ์ว่า จากปัญหาอุทกภัยที่เกิดขึ้นในขณะนี้คนไทยทั้งหมดต้องช่วยกันเพื่อรักษาชีวิตและทรัพย์สิน ที่ผ่านมารัฐบาล นายกรัฐมนตรี และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้พยายามหาทางแก้ไขจนสุดชีวิต แต่วันนี้ไม่รู้จะทำอย่างไรที่จะไปห้ามฝนได้ เพราะฝนตกอยู่ตลอดเวลา ทำให้น้ำไหลบ่าลงมา และตอนนี้ก็ระบายออกสู่ทะเลได้ยาก เนื่องจากน้ำทะเลหนุนขึ้นมา จึงขอความกรุณาจากประชาชนคนไหนที่มีบ้านเรือนอยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา ตั้งแต่ อ.บางไทร จ.พระนครศรีอยุธยา ลงมา ขอให้นำเรือมาผูกให้แน่นบริเวณหน้าบ้าน และเดินเครื่องเรือ โดยหันหัวไปทางทิศเหนือ เพื่อช่วยกันดันน้ำให้ลงไปทางใต้ การทำเช่นนี้ถือเป็นการช่วยดันน้ำคนละเล็กน้อย เหมือนกองทัพมด โดยรัฐบาลพร้อมที่จะสนับสนุนน้ำมันให้ ซึ่งสามารถแจ้งไปยังผู้ว่าฯ นายอำเภอ กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ สำนักนายกรัฐมนตรี หรือกระทรวงใดก็ได้ หรือแม้แต่จะโทรศัพท์มาที่เบอร์มือถือส่วนตัวของตนก็ได้ตลอดทั้งวันทั้งคืน หมายเลข 08-1496-6644 แต่ขอให้แจ้งชื่อและบอกพิกัดว่าเรือจอดอยู่ตรงไหน มีกำลังเครื่องกี่แรง จะได้ช่วยกันวางแผนให้สามารถดันน้ำได้อย่างมีประสิทธิภาพ และทางกรมเจ้าท่า กองทัพเรือ จะเป็นผู้นำน้ำมันไปสนับสนุน แต่สำหรับบ้านเรือนที่ถูกน้ำท่วมจนกลายเป็นเวิ้งน้ำแล้วคงไม่จำเป็น

รถไฟเหนือ 12 ขบวนหยุดวิ่ง

เวลา 12.00 น. นางนวลอนงค์ วงษ์จันทร์ หัวหน้ากองประชาสัมพันธ์ การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เปิดเผยถึงความคืบหน้าสถานการณ์น้ำท่วมทางรถไฟ ว่า น้ำยังคงท่วมทางรถไฟอย่างต่อเนื่อง แบ่งออกเป็นสายเหนือ 9 เส้นทาง ได้แก่ 1.อยุธยา-บ้านม้า ระดับน้ำสูงกว่าสันรางประมาณ 18 เซนติเมตร ท่วมทางที่ 1 และ 2 สามารถใช้ทางที่ 3 เดินขบวนรถไฟได้ 2.ลพบุรี-ท่าแค ระดับน้ำสูงกว่าสันรางประมาณ 66 เซนติเมตร 3.ปากน้ำโพ-บึงบอระเพ็ด ระดับน้ำสูงกว่าสันรางประมาณ 22 เซนติเมตร 4.ปากน้ำโพ-บึงบอระเพ็ด ระดับน้ำสูงกว่าสันรางประมาณ 21 เซนติเมตร 5.บึงบอระเพ็ด-ทับกฤช ระดับน้ำสูงกว่าสันรางประมาณ 17 เซนติเมตร 6.ทับกฤช-คลองปลากด ระดับน้ำสูงกว่าสันรางประมาณ 23 เซนติเมตร 7.ทับกฤช-คลองปลากด ระดับน้ำสูงกว่าสันรางประมาณ 20 เซนติเมตร 8.ทับกฤช-คลองปลากด ระดับน้ำสูงกว่าสันรางประมาณ 19 เซนติเมตร 9.ทับกฤช-คลองปลากด ระดับน้ำสูงกว่าสันรางประมาณ 24 เซนติเมตร

(1)พังยับ - สภาพโรงงานภายในสวนอุตสาหกรรมสหรัตนคร อ.นครหลวง จ.พระนคร ศรีอยุธยา ถูกน้ำท่วมอย่างหนัก รวม 46 โรง ทางสภาอุตสาหกรรมจังหวัดประเมินความเสียหาย อาจจะสูงถึงวันละ 1,000 ล้านบาท เมื่อวันที่ 5 ต.ค.



(2)น้ำใจ - นายสุรพงษ์ อึ้งอัมพรวิไล รมช.ศึกษาธิการ และ พล.ต.ต.คำรณวิทย์ ธูปกระจ่าง รรท.ผบช.ภาค 1 เปิดโครงการนำนักเรียนอาชีวะ 8 จังหวัดภาคกลาง ออกช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วม เมื่อวันที่ 5 ต.ค.



(3)ป่าตองจม - สภาพบริเวณหาดป่าตอง กับหาดกะหลิม แหล่งท่องเที่ยวชื่อดังของภูเก็ต ถูกน้ำท่วมหนักหลังจากมีฝนตกหนักติดต่อกันตลอดคืน ทำให้เกาะภูเก็ตแทบไม่ต่างจากเมืองบาดาล เมื่อวันที่ 5 ต.ค.


สำหรับเส้นทางสายตะวันออกเฉียงเหนือ 1 เส้นทาง ได้แก่ หินซ้อน-แก่งเสือเต้น ระดับน้ำสูงกว่าสันรางประมาณ 50 เซนติเมตร ส่วน เส้นทางสายตะวันออก 1 เส้นทาง ได้แก่ บ้านสร้าง-ปากพลี 5 ระดับน้ำสูงกว่าสันรางเล็กน้อย ดังนั้น ในวันที่ 5 ต.ค. รฟท.จำเป็นต้องประกาศหยุดเดินรถสายสำคัญในเส้นทางสายเหนือ 12 ขบวน ประกอบด้วย มีต้นทางจากกรุงเทพฯ-เชียงใหม่-กรุงเทพฯ ขบวนรถด่วนพิเศษที่ 1/2 ขบวนด่วน, ขบวนรถด่วนพิเศษที่ 11/12, ขบวนที่ 13/14, ขบวนที่ 51/52, ขบวนรถเร็วที่ 105/106 ไม่มีเดินจากกรุงเทพฯ-ศิลาอาสน์-กรุงเทพฯ และขบวนรถเร็วที่ 107/108 ไม่มีเดินจากกรุงเทพฯ-เด่นชัย-กรุงเทพฯ

ขบวนชานเมืองหยุดเดินรถเช่นกัน

ส่วนขบวนรถท้องถิ่น ขบวนรถชานเมืองที่ รฟท.ประกาศเดินประจำและเป็นกรณีพิเศษช่วงระยะสั้น จากกรุงเทพฯ-ลพบุรี ช่วงนคร สวรรค์-ชุมแสง และจากชุมแสง-เชียงใหม่ ยังมีเดินให้บริการอยู่ สำหรับในเส้นทางสายหินซ้อน-แก่งเสือเต้น มีงดเดินขบวนรถท้องถิ่นบางขบวน และแก้ไขสถานการณ์โดยให้ขบวนรถสายหลักเพื่อมุ่งไปยังขอนแก่น อุดรธานี และหนองคาย วิ่งผ่านสถานีนครราชสีมาแทน เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนกับประชาชนที่จะอาศัยรถไฟในการเดินทาง

"กรุงเก่า"วิกฤตน้ำทะลักท่วม

สำหรับสถานการณ์น้ำท่วมทั่วไปที่ จ.พระ นครศรีอยุธยา กระแสน้ำจากแม่น้ำน้อย แม่น้ำเจ้าพระยา แม่น้ำป่าสัก แม่น้ำลพบุรี และกระแสน้ำหลากตามทุ่งจาก จ.ลพบุรี ไหลเข้าท่วมหลายพื้นที่ จ.พระนครศรีอยุธยา อย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ชุมชนสองฝั่งแม่น้ำและเขตทุ่งนา ใน 16 อำเภอของจังหวัด ทั้งนี้ ในจำนวนนี้มีถึง 14 อำเภอที่โดนน้ำท่วมอย่างหนัก และบางอำเภอถูกตัดขาดจากโลกภายนอกแล้ว เนื่องจากถนนถูกน้ำท่วมไม่สามารถสัญจรได้ เช่น อ.บ้านแพรก อ.มหาราช อ.ท่าเรือ อ.ผักไห่ ขณะที่ อ.พระนครศรีอยุธยา และ อ.นครหลวง เริ่มได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมอย่างหนัก โดยคันกั้นน้ำของนิคมอุตสาหกรรมสหรัตนคร ต.บางพระครู อ.นครหลวง ไม่สามารถต้าน ทานกระแสน้ำได้ และพังลงเมื่อกลางดึกที่ผ่านมา ส่งผลให้น้ำเอ่อเข้าท่วมโรงงานขนาดใหญ่และขนาดกลางในนิคมกว่า 46 แห่ง เกือบทุกโรงงานไม่สามารถที่จะขนย้ายสิ่งของได้ทัน

เร่งช่วยสาวฉันทนาติดในโรงงาน

ส่วนที่สวนอุตสาหกรรมสหรัตนคร อ.นคร หลวง ถูกน้ำท่วมสูงเกือบ 2 เมตร ทำให้โรงงานทั้ง 46 โรงต้องปิดกิจการ พนักงานทั้งชาย-หญิงกว่า 1 หมื่นคน ต้องรีบออกจากโรงงานและที่พักออกมาทางเรือด้วยความยากลำบาก เนื่องจากระแสน้ำไหลเชี่ยว บางรายต้องอดอาหารและน้ำดื่ม หน่วยกู้ภัยอยุธยารวมใจ เจ้าหน้าที่ทหารบก จ.สระบุรี ได้นำเรือเข้าช่วยเหลืออย่างเร่งด่วน

ถ.โรจนะจม-ชาวบ้านบุกพังคันดิน

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่ถนนโรจนะซึ่งเป็นถนนสายหลักเข้า-ออกตัวเมืองพระนครศรี อยุธยา พบว่าช่วงขาออกตั้งแต่วงเวียนเจดีย์วัดสามปลื้ม ไปจนถึงแยกวัดพระญาติถนนช่องคู่ขนานน้ำท่วมสูงประมาณ 80 ซ.ม. รถไม่สามารถวิ่งได้ ระดับน้ำขึ้นสูงตลอดเวลาจนเข้าท่วมในช่องทางด่วน ส่งผลให้การจราจรติดขัดยาวกว่า 5 ก.ม. และยังพบว่าบ้านเรือนในชุมชนการเคหะ ที่อยู่ริมถนนโรจนะขาออกถูกน้ำท่วมสูง 1.50 เมตร น้ำยังไหลบ่าเข้าท่วมชุมชนเจ้าพ่อจุ้ย ม.5 ต.ไผ่ลิง มีบ้านเรือนถูกน้ำท่วมไปกว่า 1 พันหลังคาเรือน แรงดันน้ำทำให้มีบ้านเรือนที่สร้างพนังคอนกรีตกั้นน้ำเอาไว้พังเสียหายไป 3 หลัง ชาวบ้านเกือบ 100 คน เกิดความเครียด พากันเดินลุยน้ำที่ท่วมถึงหน้าอก พร้อมจอบเสียมในมือ บุกพังคันดินกั้นน้ำที่ริมถนนหน้าวัดพระญาติ กระทั่งเจ้าหน้าที่ส่งตัวแทนเจรจายอมเปิดทางระบายน้ำ ชาวบ้านจึงพอใจแยกย้ายกันกลับ ต่อมาช่วงเย็นมีการเจรจากันอีกครั้งชาวบ้านยอมให้นำดินกลับมากั้นน้ำได้ตามเดิม

คาดเสียหายกว่าแสนล้าน

นายวิทยา บุรณศิริ รมว.สาธารณสุข (สธ.) ซึ่งรับผิดชอบพื้นที่น้ำท่วม จ.พระนครศรีอยุธยา กล่าวว่า จากการลงพื้นที่ตรวจสอบความเสียหายเบื้องต้นประเมินมูลค่าความเสียหาย ไม่ต่ำกว่า 1 แสนล้านบาท นอกจากนี้ กระแสน้ำยังไหลข้ามคันล้อมของเทศบาลเมืองอโยธยา และ อบต. หันตรา อ.พระนครศรีอยุธยา เข้าท่วมสถานที่สำคัญในพื้นที่หลายแห่ง ทำให้น้ำมีระดับความสูงกว่า 2-3 เมตร จมสวนเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 โบราณสถานกลุ่มวัดกุฎีดาว ศูนย์วิจัยพันธุ์ข้าวหันตรา ชุมชนใน ต.หันตรา ชุมชนเทศบาล เมืองอโยธยา หมู่บ้านการเคหะพระนครศรี อยุธยา วัดมเหยงค์ ตลาดสี่แยกวัดพระญาติ รวมทั้งเขตเศรษฐกิจริมถนนโรจนะในเขต ต.ไผ่ลิง ซึ่งมีร้านค้าตั้งอยู่จำนวนมาก นอกจากนี้ น้ำยังเอ่อท่วมบนถนนโรจนะเส้นทางขาออกอยุธยา ตั้งแต่แยกวงเวียนกลางถนนถึงสี่แยกวัดพระญาติ โดยน้ำยังคงท่วมขยายวงกว้างอย่างต่อเนื่อง

ภาคอุตฯเสียหายวันละพันล้าน

นายพากร วังศิราบัตร ประธานสภาอุตสาห กรรมจังหวัดพระนครศรีอยุธยา เปิดเผยว่า อยุธยามีนิคมอุตสาหกรรม 4 แห่ง ซึ่งขณะนี้นิคมอุตสาหกรรมสหรัตนคร อ.นครหลวง ถูกน้ำท่วมสูงเกือบ 2 เมตร ภายในนิคมมีโรงงานอยู่จำนวน 46 โรง มีเงินลงทุน 17,000 ล้านบาท ทำให้การลงทุนของโรงงานต่างๆ ต้นทุนคงจะสูญไปด้วย ทั้งๆ ที่ได้มีการวางแผนการป้องกันเป็นอย่างดี แต่เนื่องด้วยปริมาณน้ำมีจำนวนมากเหนือความคาดหมาย ส่งผลให้แรงงานไทยอาจจะตกงานนับหมื่นคน ส่วนนิคมอุตสาหกรรมอีก 3 แห่ง ในอ.อุทัย อ.บางปะอิน ระบบการป้องกันยังมีความมั่นคงไม่น่าห่วง ความสูญเสียภาพรวมความสูญเสียทางด้านภาคอุตสาหกรรมอาจจะสูงถึง 1,000 ล้านบาทต่อวัน

ด้านนายสุพจน์ พรหมมาโนช ผอ.สำนักศิลปากรที่ 3 พระนครศรีอยุธยา กล่าวว่า การกู้วัดไชยวัฒนารามที่ถูกน้ำท่วมขณะนี้ยังไม่สามารถอุดรอยรั่วจากแนวกำแพงได้ เนื่องจากระดับน้ำยังสูงและไหลแรง

"ลพบุรี"เร่งระบายน้ำเขื่อนป่าสักฯ

ที่จ.ลพบุรี ทางโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ ประกาศเตือนราษฎรที่อยู่ในเขตลุ่มน้ำป่าสัก โดยเฉพาะพื้นที่ลุ่มริมตลิ่งแม่น้ำป่าสักควรเร่งขนของขึ้นที่สูง และเฝ้าระวังติดตามสถานการณ์น้ำในบริเวณลุ่มน้ำป่าสักอย่างใกล้ชิด เนื่องจากระดับน้ำในอ่างเก็บน้ำ ขณะนี้เกินความจุมากแล้ว ทางโครงการจึงต้องเพิ่มการระบายน้ำออกท้ายเขื่อน จนกว่าระดับน้ำภายในอ่าง จะเข้าสู่สภาวะปกติ คาดว่าจะมีผลกระทบกับพี่น้องประชาชนในพื้นที่ลุ่มในหลายจังหวัด ปริมาตรน้ำในอ่างฯ ขณะนี้มีถึง 1,081.42 ล้านลบ.ม. หรือคิดเป็น 137.70 เปอร์เซ็นต์ของความจุอ่าง ที่ระดับเก็บกักปกติอยู่ที่ 960 ล้าน ลบ.ม. ปริมาณของน้ำที่ไหลลงในอ่าง 1,000.43 ลบ.ม./วินาที หรือ 86.87 ล้าน ลบ.ม./วัน ทางเขื่อนได้เพิ่มการระบายน้ำออก 950.22 ลบ.ม./วินาที หรือ 82.10 ล้าน ลบ.ม./วัน ปัจจุบันสถานการณ์น้ำในอ่าง สูงกว่าระดับเก็บกักสูงสุดที่ 43.00 เมตรเหนือระดับน้ำทะเลปานกลางแล้ว และอาจต้องเพิ่มปริมาณการระบายเพิ่มขึ้นอีก หากยังมีปริมาณน้ำฝนที่ตกลงมาอย่างต่อเนื่องอยู่ในขณะนี้

"ชัยนาท"-"อ่างทอง"ระดับน้ำยังสูง

ที่ จ.ชัยนาท บริเวณถนนพหลโยธิน ก.ม.272 (ต่างระดับชัยนาท-ตาคลี) การจราจรใช้ได้ช่องทางเดียว เนื่องจากระดับน้ำสูงขึ้นจาก 10 ซ.ม. อยู่ที่ 30-40 ซ.ม. ไหล่ทางที่น้ำไหลผ่านยังเชี่ยวกราก โดยน้ำได้กัดเซาะพังไปแล้วกว่า 1 เมตร แม้ว่าจะใช้แผ่นเหล็กปิดป้องกันแล้วก็ตาม

นายสิทธิชัย วนานุเวชพงศ์ ผู้อำนวยการแขวงการทางชัยนาท กล่าวว่า แขวงการทางชัยนาทร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องสร้างสะพานชั่วคราวข้ามกระแสน้ำที่ไหลแรงเพื่อให้รถจักรยานยนต์ผ่านได้ และยังได้มีการนำเสาไฟฟ้าขนาดใหญ่วางกั้นเพื่อชะลอความแรงของกระแสน้ำ แต่กระแสน้ำพัดจนไถลมาปิดช่องจราจรไป 1 เลน จึงต้องเร่งให้รถเครนมาเคลื่อนย้ายทำให้การจราจรติดขัดหนักยิ่งขึ้น อย่างไรก็ตาม เจ้าหน้าที่ได้เร่งดำเนินการเพื่อให้การจราจรเคลื่อนตัวได้สะดวกมากที่สุด จึงขอแนะนำผู้จะใช้เส้นทางขึ้นภาคเหนือจากกรุงเทพฯ ไม่ควรเข้าชัยนาท ให้ใช้สายเอเชียอย่างเดียว ส่วนผู้ที่จะออกจากจังหวัดชัยนาทแนะนำให้เลี่ยงไปใช้ถนนสาย 311 (ชัยนาท-สิงห์บุรี) ไปออกสายเอเชียที่จังหวัดสิงห์บุรี

ที่จ.อ่างทอง สถานการณ์น้ำท่วมในจังหวัดอ่างทองยังหนัก โดยเฉพาะ ต.ชัยฤทธิ์ ต.ตรีณรงค์ ต.จระเข้ร้อง ต.ชัยภูมิ อ.ไชโย จ.อ่างทอง ขณะนี้น้ำตลบหลังมาจาก อ.ท่าวุ้ง จ.ลพบุรี และ อ.บ้านแพรก จ.พระนครศรีอยุธยา ไหลบ่าเข้าท่วมเต็มพื้นที่ฝั่งตะวันออกของอ.ไชโย เกินขีดที่จะเสริมคันป้องกันเพราะระดับน้ำท่วมทันทีกว่า 2 เมตร ชาวบ้านเดือดร้อนหนักต้องอพยพไปอาศัยบนถนนสายเอเชีย

"สิงห์บุรี"เอ่อท่วมสายเอเชีย

ที่จ.สิงห์บุรี น้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาที่บริเวณหน้าเขื่อนจังหวัดสิงห์บุรี สูงขึ้นประมาณ 15 ซ.ม. ส่งผลทำให้น้ำเอ่อท่วมถนนสายเอเชียขาขึ้นบริเวณหลักก.ม.ที่ 94 ถึง 98 เส้นทางระหว่าง ต.โพกรวม อ.เมืองสิงห์บุรี ไปจนถึง ต.น้ำตาล อ.อินทร์บุรี เจ้าหน้าที่ต้องระดมกำลังคนและเครื่องจักรมาทำแนวคันดินบริเวณริมถนนเพื่อให้รถสามารถวิ่งได้ ซึ่งในขณะนี้รถที่มุ่งขึ้นเหนือยังวิ่งได้ 2 ช่องทาง จาก 3 ช่องทาง

นายมนตรี ตันตระกูล วิศวกรใหญ่ด้านควบ คุมการก่อสร้างกรมชลประทาน ได้เปิดเผยถึงความคืบหน้าการซ่อมช่องขาดประตูระบายน้ำบางโฉมศรี ที่ อ.อินทร์บุรี จ.สิงห์บุรี จนถึงขณะนี้ ว่า การลำเลียงหินเข้าไปได้จำนวนเที่ยวมากขึ้นงานลุล่วงไปแล้ว 30 เปอร์เซ็นต์ หลังจากที่เปิดพื้นที่การทำงานทำให้รถบรรทุกทำงานได้สะดวกขึ้น

ปราจีนฯสลด-จมน้ำ 3 ศพ

ที่จ.ปราจีนบุรี กลางดึกที่ผ่านมา เกิดเหตุเรือล่มมีคนจมน้ำเสียชีวิต 3 ราย เหตุเกิดที่บริเวณทุ่งนา หมู่ที่ 5 ต.บางแตน อ.บ้านสร้าง ผู้เสียชีวิตประกอบไปด้วย นายเฉลียว อินคง อายุ 44 ปี นางสายเพ็ญ ตระการจันทร์ อายุ 40 ปี และนายสมปอง ตระการจันทร์ อายุ 41 ปี สามีนางสายเพ็ญ นอกจากนี้ ยังมีด.ช.ภาสกร เกษพิรา อายุ 2 ขวบ และด.ช.ธีรวัฒน์ ตระการจันทร์ อายุ 14 ปี ที่นั่งเรือมาด้วยกันบาดเจ็บเล็กน้อย พลเมืองดีช่วยชีวิตได้ทัน ทั้งนี้ ทราบว่าก่อนเกิดเหตุทั้ง 5 คนพายเรือออกจากบ้านหนีน้ำท่วม แต่เรือเกิดล่มเพราะกระแสน้ำเลยทำให้ทั้ง 3 คนซึ่งว่ายน้ำไม่เป็นเสียชีวิตในที่สุด

"ภูเก็ต"น้ำทะลักจม"ป่าตอง"

ที่ จ.ภูเก็ต ฝนที่ตกลงมาอย่างหนักทำให้เกิดภาวะน้ำท่วมฉับพลัน โดยเฉพาะบริเวณหาดป่าตอง บริเวณร.พ.ป่าตอง น้ำท่วมเข้าไปภายในโรงพยาบาลจนต้องมีการอพยพคนไข้เพื่อความปลอดภัย และที่หน้า สภ.กะทู้ อ.กะทู้ จ.ภูเก็ต รถเล็กไม่สามารถสัญจรไปมาได้ ส่วนที่บริเวณสี่แยกโลตัส กลางเมืองภูเก็ต น้ำท่วมประมาณ 60 ซ.ม. และในพื้นที่ ต.ฉลอง ก็มีน้ำท่วมขังเช่นเดียวกัน เจ้าหน้าที่ต้องระดมกำลังช่วยเหลือชาวบ้านอย่างโกลาหล

ที่มา หนีงสือพิมพ์ข่าวสด


Submit Site Story
Blog Backlink
blog backlink | seo | pagerank | Submit

0 ความคิดเห็น:

Post a Comment