Friday, October 7, 2011

สตีฟ จ็อบส์:ใช้ชีวิตอย่างไรก่อนที่คุณจะตาย


เรื่องแรก เกี่ยวกับการเชื่อมโยงจุดประในชีวิต

สตีฟ จ็อบส์ เป็นเด็กที่พ่อแม่ที่แท้จริงของเขายกเขาให้เป็นบุตรบุญธรรมของพ่อแม่อุปการะ จ็อบส์พักการเรียนในระดับวิทยาลัยไว้กลางคัน เนื่องมาจากเขาเลือกเรียนวิทยาลัยที่มีค่าใช้จ่ายสูงพอๆ กับสแตนฟอร์ด และพ่อแม่ของเขาอยู่ในระดับคนทำงานที่ต้องใช้เงินที่เก็บออมไว้เพื่อมาส่งเสียจ็อบส์เป็นค่าธรรมเนียมการศึกษา 6 เดือน ต่อมาหลังจากที่ได้เข้าเรียน เขาไม่เห็นถึงคุณค่าของสิ่งที่ทำที่ตรงไหน และก็คิดไม่ออกว่าอยากจะทำอะไรในชีวิต และไม่คิดว่าวิทยาลัยจะช่วยให้เขาหาคำตอบนั้นๆ ได้ และสิ่งที่เขาทำก็คือ หยุดการเรียนไว้เพียงแค่นั้น และเชื่อมั่นกับการตัดสินใจของตัวเองว่า เดี๋ยวทุกอย่างก็จะดีเอง มันเป็นช่วงเวลาที่น่ากลัวเหมือนกันในเวลานั้น

แต่เมื่อมองกลับไป จ็อบส์กล่าวนั่นเป็นการตัดสินใจที่ดีที่สุดในชีวิตของเขาก็ว่าได้ ในวินาทีที่เขาตัดสินใจหยุดพักการเรียน เขาสามารถหยุดเรียนในวิชาที่เขาไม่สนใจ และเริ่มเรียนรู้ในสิ่งที่เขาสนใจมากกว่าได้ ซึ่งจ็อบส์ได้เข้าเรียนในคลาสเรียนวิชาอักษรวิจิตร แต่เรื่องราวก็ไม่สวยงามเท่าไหร่นัก จนกระทั่ง 10 ปีต่อมา จ็อบส์ได้ร่วมออกแบบเครื่องคอมพิวเตอร์แมคอินทอชเครื่องแรก เขาใส่ความสามารถทั้งหมดลงไปในการออกแบบสิ่งประดิษฐ์ชิ้นนี้ จ็อบส์กล่าวว่า หากเขาไม่พักการเรียน ก็คงจะไม่มีโอกาสได้เรียนวิชาอักษรวิจิตร และดีไซน์คอมพิวเตอร์ก็คงไม่ออกมามหัศจรรย์เช่นนี้

มันเป็นไปไม่ได้ที่เราจะวาดตามรอยประไปข้างหน้า เราทำได้เพียงเชื่อมโยงมันไปข้างหลัง ดังนั้นจงเชื่อมั่นว่าจุดแต่ละจุดในชีวิตของเราเชื่อมโยงกับอนาคตอย่างแน่นอน คุณต้องเชื่อมั่นในอะไรบางอย่าง อาจจะเป็นเป้าหมายของคุณ ชีวิต หรือเรื่องเกี่ยวกับกรรม อะไรก็ตาม เพราะว่าการเชื่อมั่นในจุดแห่งการเชื่อมโยงนั้นจะทำให้คุณมีความมั่นใจที่จะทำตามเสียงของหัวใจ และทำให้คุณแตกต่าง

เรื่องที่สอง คือเรื่องเกี่ยวกับความรักและการสูญเสีย

จ็อบส์กล่าวว่าเขาเป็นผู้ที่โชคดี เขาพบว่าอะไรคือสิ่งที่เขารักในช่วงต้นของชีวิต วอซเนคและจ็อบส์เริ่มการทำงานแอปเปิ้ลในโรงรถที่บ้านของเขา เมื่อครั้งที่เขาอายุเพียง 20 ปี จ็อบส์กล่าวว่า พวกเราทำงานกันอย่างหนัก และใน 10 ปีต่อมา แอปเปิ้ลก็เติบโตขึ้น โดยเริ่มต้นเพียงบุคลากร 2 คน จนกระทั่งเป็นบริษัทที่มีมูลค่าสูงถึง 2 พันล้านบาท และมีลูกจ้างกว่า 4,000 คน พวกเราเพียงแค่สร้างสิ่งที่ดีที่สุด นั่นก็คือแมคอินทอช ต่อมาด้วยวัย 30 ปีของเขา จ็อบส์ถูกไล่ออก คำถามคือคุณจะถูกไล่ออกจากบริษัทที่คุณเป็นผู้สร้างขึ้นได้อย่างไร

จ็อบส์กล่าวว่า เมื่อแอปเปิ้ลโตขึ้น พวกเราได้จ้างคนๆ หนึ่งที่คิดว่าเป็นคนที่มีพรสวรรค์ที่จะมาร่วมทำบริษัทกับเขา แต่ในที่สุด มุมมองของเขากับจ็อบส์ก็ขัดแย้งกัน ในที่สุดจ็อบส์ก็ออกมา สิ่งที่เขาทุ่มเทให้ทั้งชีวิตก็หายไปในพริบตา เขาไม่รู้เลยว่าควรจะทำอะไรในช่วงแรกๆ ที่ออกจากแอปเปิ้ล

ในที่สุดเขาตระหนักว่า เหตุการณ์ที่เขาต้องออกมาจากแอปเปิ้ลเป็นสิ่งที่ดีที่สุดที่เกิดขึ้นกับเขา สิ่งนี้ปลดปล่อยความเป็นอิสระให้กับจ็อบส์ที่เป็นเหมือนผู้เริ่มต้นใหม่ในวงการอีกครั้ง ที่จะมีช่วงเวลาที่เขาได้ใช้ความคิดสร้างสรรค์มากที่สุดในชีวิต มันอาจจะดูเหมือนยาขมในช่วงแรกที่ออกมาจากแอปเปิ้ลนั้น แต่ความสำเร็จที่ผ่านมาจะเกิดขึ้นไม่ได้เลยหากปราศจากช่วงเวลาที่เขาออกมาจากแอปเปิ้ล

บางครั้งชีวิตก็อาจจะตีศีรษะคุณด้วยอิฐก้อนใหญ่ แต่จงอย่าเสียซึ่งศรัทธา เขาได้ทำในสิ่งที่เขารัก คุณต้องหาว่าอะไรคือสิ่งที่คุณรัก เมื่อคุณรักในงานที่ทำ คุณก็จะทำมันออกมาได้ดี หากคุณยังหาไม่เจอ จงหาต่อไป และอย่าหยุด

เรื่องที่สาม คือเรื่องเกี่ยวกับความตาย

เมื่อครั้งที่จ็อบส์อายุ 17 ปี เขาได้อ่านประโยคหนึ่งที่มีใจความว่า หากคุณใช้ชีวิตแต่ละวันเหมือนกับว่าเป็นวันสุดท้ายในชีวิตของคุณ สักวันหนึ่งคุณจะประสบความสำเร็จ นั่นเป็นข้อความที่สร้างความประทับใจให้กับเขา ตลอด 33 ปีที่ผ่านมา เขาเฝ้าถามตัวเองในกระจกว่า หากวันนี้คือวันสุดท้ายในชีวิตของเขา เขาจะทำอะไร และจะเป็นอย่างไรในวันนี้ และเมื่อใดก็ตามที่ไม่มีคำตอบให้กับตัวเอง เขารู้ตัวทันทีว่าจะต้องปรับเปลี่ยนอะไรบางอย่างเข้าให้แล้ว

เมื่อเรารู้ว่าเราเข้าใกล้ความตายอยู่ในทุกขณะ มันทำให้เราตัดสินใจกับเรื่องใหญ่ๆ ในชีวิตได้ จงตระหนักถึงสิ่งที่สำคัญจริงๆ เท่านั้น

การตระหนักถึงความตายเป็นวิธีที่ดีที่สุดที่ช่วยให้เราหลีกเลี่ยงกับดักทางความคิดว่าเราจะจะต้องสูญเสียอะไรบางอย่าง เพราะแท้ที่จริงแล้ว เราก็ไม่มีอะไรมาตั้งแต่แรกอยู่แล้ว


สตีฟ จ็อบส์ กล่าวในงานพิธีรับปริญญาของมหาวิทยาลัย สแตนฟอร์ด สิ่งที่เขากล่าวในวันนั้นเป็นเรื่องราวของบทเรียนจาก 3 เหตุการณ์ในชีวิตของเขา

ที่มา
Thai E-News



Submit Site Story
Blog Backlink
blog backlink | seo | pagerank | Submit

0 ความคิดเห็น:

Post a Comment